วันเสาร์ที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2552

เด็กเล็กก็เป็น “ฝี” ได้

เด็กเล็กก็เป็น “ฝี” ได้ (Mother & Care)



โดย รศ.นพ.ชิษณุ พันธุ์เจริญ

กุมารแพทย์ ด้านโรคติดเชื้อ


“เอ...ผิวลูกเราเป็นอะไรนะ มองเผินๆ คล้ายตุ่มยุงกัด แต่วันดีคืนดีก็มีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ มีหนองด้วย พอแม่ไปแตะโดนก็เจ็บจนร้องไห้ใหญ่เลย” เห็นเจ้าตัวเล็กมีอาการแปลกๆ ก็อย่าเพิ่งตกอกตกใจค่ะ ตุ่มหนองที่คุณแม่เห็นมีชื่อเรียกที่เราคุ้นเคยกันดีว่า “ฝี” วันนี้ลองมาทำความรู้จักกับโรคนี้ดูดีกว่า ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไรบ้าง

ฝีเกิดจากอะไร

ฝี เป็นกลไกการต้านเชื้อโรคของร่างกาย เกิดขึ้นชั้นใต้ผิวหนัง ไม่ว่าจะเป็นศีรษะ แขน ขา ก้น ฯลฯ โดยมีสาเหตุมาจากแบคทีเรียบนผิวหนัง ที่อาจมีทั้งประโยชน์และโทษ เมื่อเด็กๆ รู้สึกคันผิวแล้วเกาจนเป็นแผล เจ้าเชื้อโรคที่ว่านี้ก็จะบุกรุกเข้ามาในร่างกายได้

แต่ความมหัศจรรย์ของร่างกายไม่ปล่อยให้ใครมารุกรานได้ง่ายๆ อยู่แล้ว ดังนั้น จึงมีการส่งกองหน้า ซึ่งก็คือเซลล์เม็ดเลือดขาวออกมาต่อสู้กับเชื้อโรค นอกจากนี้ยังมีการสร้างผนังห่อหุ้มเชื้อโรคและเซลล์ที่ตายแล้วเอาไว้ ไม่ให้แพร่กระจายไปยังส่วนอื่นๆ ในร่างกายด้วย เห็นได้ในรูปของฝีหรือหนอง ซึ่งขนาดเล็กมักจะเรียก ตุ่มหนอง แต่เมื่อตุ่มหนองนั้นมีขนาดใหญ่กว่า 1 เซนติเมตรขึ้นไปจะเรียกว่า ฝี

อาการเมื่อเด็กเป็นฝี

ฝีมักจะขึ้น เป็นตุ่มหรือก้อนบวมแดง และปวด สัมผัสจะรู้สึกร้อน กดถูกจะรู้สึกเจ็บ แรกๆ จะมีลักษณะแข็ง จะขยายโตขึ้นและเจ็บมากขึ้น เพราะเนื้อเยื่อรอบๆ เกิดการอักเสบ ต่อมาจะนุ่มลงและกลัดหนอง เมื่อฝีเป่งมากๆ อาจแตกเองได้ แล้วอาการเจ็บปวดอาจทุเลาลง

อาการแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ คือมีการติดเชื้อเข้าไปในกระแสเลือด แล้วเดินทางไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกาย ซึ่งถือว่าเป็นขั้นรุนแรงที่สุด แต่ก็พบได้เป็นส่วนน้อย

ตัวเท่านี้ก็เป็นฝีได้หรือ ฝี เกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย และเกิดขึ้นได้กับทุกส่วนของร่างกาย พบได้บ่อยในเด็กเล็กวัยทารกที่มีผิวหนังบอบบางในวัยซนชอบเล่นเพลินจนไม่ได้ รักษาความสะอาดของผิวหนังได้เพียงพอ ทำให้มีโอกาสที่แบคทีเรียบนผิวหนังเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย

การรักษาแผนไทย ใช้กอเอี๊ยะ คือ ขี้ผึ้งใช้ดูดหนองจากหัวฝีหรือปิดฝีให้แตกเป็นแผล หนองจะได้ออกได้โดยไม่ต้องบีบ มีเครื่องยาผสมหลายชนิดประกอบด้วย น้ำมันใบชา เสนผง ยางสน ชันตะเคียน งิ่งจู (ยาผงสีแดง) และตัวยาอื่นๆ เอามาเคี่ยวผสมกันจนกลายเป็นของเหลวสีดำหยดลงกระดาษพับครึ่ง เวลาใช้แกะกระดาษออก แล้วปิดลงบนฝีทั้งกระดาษ เริ่มต้นจะปิดให้แผลแตก และเมื่อแผลแตกกอเอี๊ยะจะดูดหนองออกมา เมื่อหนองออกหมด แผลจะหาย

การรักษาแผนปัจจุบัน ถ้าฝีมีขนาดเล็ก อาจปล่อยให้ตุ่มหนองแตกเอง จากนั้นคอยทำความสะอาด ไม่นานนักแผลก็จะหายเอง แต่ถ้าฝีมีขนาดใหญ่ควรไปพบแพทย์ เพื่อผ่าฝีเอาหนองออกมา จากนั้นใส่ผ้ากอชชนิดเป็นแผ่นยาวๆ ค่อยๆ ม้วนยัดเข้าไปในแผล เพื่อเป็นหมุดดึงระบายหนอง และทำความสะอาดแผลเปลี่ยนผ้ากอชทุกวัน ทำจนกระทั่งแผลตื้นขึ้นและหายสนิท อาจมีการให้กินยาฆ่าเชื้อและยาแก้อักเสบร่วมด้วย การผ่าเอาหนองออกแล้วยัดผ้ากอชทุกครั้งเมื่อทำแผลจะทำให้หนองออกมาได้หมด ลดโอกาสกลับมาเป็นฝีซ้ำอีกได้

เปรียบเทียบกอเอี๊ยะกับการรักษาแผนปัจจุบัน การแปะกอเอี๊ยะจะมีค่าใช้จ่ายถูกกว่า เมื่อเทียบกับค่าผ่าเอาหนองออกและค่าทำแผล แต่จะต้องระมัดระวังเรื่องความสะอาดให้มาก

วิธีป้องกันไม่ให้เกิดฝี เด็กที่ผิวหนังอักเสบง่าย ควรรักษาความสะอาด ตัดเล็บให้สั้นอยู่เสมอ เปลี่ยนปลอกหมอน ผ้าปูที่นอนบ่อยๆ อาบน้ำฟอกสบู่ให้สะอาด กินอาหารที่มีประโยชน์เป็นประจำ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น