วันเสาร์ที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2552

แนะพ่อแม่เลือกเฟ้น หลีกของเล่นอันตราย

ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ฯ ชี้ของเล่นเด็กอันตรายเพียบ สารตะกั่วปนเปื้อนมากทำลูกไม่พัฒนา เสียงดังเกินอันตรายต่อหู สายยาวเสี่ยงรัดคอเด็กขอบแหลมคม แนะพ่อแม่ซื้อของเล่นเป็นของขวัญให้เด็กสังเกตตรา มอก. รณรงค์ปี 52 เป็นปีแห่งของเล่นปลอดภัย ย้ำของเล่นสำคัญต่อเด็กแต่ต้องเลือกให้ปลอดภัยและเหมาะสม

น.พ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้แทนราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ในฐานะหัวหน้าศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บใน เด็ก โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวในการแถลงข่าวเรื่อง “อันตรายจากของเล่นเด็กและอุบัติเหตุในกทม.” ที่แพทยสภา ว่า

ในปี 2551 ที่ผ่านมา ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยและสมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยร่วมกับ ภาคี เก็บตัวอย่างของเล่นที่เล่นแล้วจากศูนย์พัฒนาเด็กสังกัดกรุงเทพมหานคร จำนวน 23 ศูนย์ มาตรวจหาสารตะกั่ว พบว่าของเล่นจาก 4 ศูนย์ หรือคิดเป็นร้อยละ 17 มีสารตะกั่วสูงกว่าค่ามาตรฐานกำหนดที่ 600 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม อีกทั้งเก็บตัวอย่างของเล่นที่วางขายหน้าโรงเรียนในกรุงเทพมหานคร 26 แห่ง พบว่ามีของเล่นจากหน้าโรงเรียน 4 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 15 มีสารตะกั่วสูงกว่าค่ามาตรฐานกำหนด

น.พ.อดิศักดิ์กล่าวต่อว่า ช่วงปลายปี 2551 ราชวิทยาลัยฯ ได้ซื้อหาของเล่นที่ราคาไม่สูง ครอบครัวสามารถซื้อหาให้เด็กได้ง่ายทั้งจากห้างและตลาดทั่วไปในกรุงเทพฯ พิจิตร บุรีรัมย์ สระแก้ว และชลบุรี จำนวน 126 ชิ้น ส่งตรวจคุณสมบัติทางกายภาพจำนวน 50 ชิ้น พบว่าไม่เป็นไปตามมาตรฐานกำหนดจำนวน 9 ชิ้น หรือร้อยละ 18 โดยมีเสียงดังเกิน 75-85 เดซิเบล เป็นอันตรายต่อเซลประสาทการได้ยิน 4 ชิ้น เส้นสายยาวเกินกว่า 30 เซนติเมตร มีความเสี่ยงต่อการพันรัดคอเด็ก 3 ชิ้น มีช่องรูระหว่าง 5-12 มิลลิเมตร เสี่ยงต่อนิ้วเด็กติดค้างในช่องรู 2 ชิ้น และมีขอบแหลมคม 1 ชิ้น รวมถึงส่งตรวจคุณสมบัติทางเคมีโดยตรวจหาสารตะกั่วจำนวน 80 ชิ้น พบว่ามีสารตะกั่วสูงกว่าค่ามารตฐานกำหนด 6 ชิ้น หรือร้อยละ 7.5

“ของเล่นที่มีค่าสารตะกั่วเกิน กว่าที่มาตรฐานกำหนดจะเป็นอันตรายอย่างยิ่งสำหรับเด็ก ซึ่งส่วนใหญ่จะอมของเล่นเข้าทางปาก จะทำให้สารตะกั่วเข้าไปสะสมอยู่ในกระดูกและจะติดอยู่กับตัวเด็กไปจนโตซึ่งจะ ละลายเข้าเนื้อเยื่อ ทำให้มีผลต่อเซลสมอง หากได้รับซ้ำๆ จะก่อให้เกิดพัฒนาการที่ล่าช้า ระดับไอคิวต่ำ ดังนั้นการเลือกซื้อของเล่นให้กับเด็ก พ่อแม่ควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีตรา มอก. แม้จะไม่ปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ก็พอบรรเทาอันตรายได้ระดับหนึ่ง ขณะนี้ผมและทีมงานกำลังดำเนินการตรวจสอบเครื่องมือศิลปะในศูนย์เด็กเล็ก ทั้งดินน้ำมัน สีแท่ง สีเทียน สีทาบ้านว่ามีการปนเปื้อนของสารที่จะทำให้เกิดอันตรายต่อเด็กหรือไม่ คาดว่าอีก 3 เดือนจึงจะรู้ผล” น.พ.อดิศักดิ์กล่าว

พ.ญ.นิตยา คชภักดี อนุกรรมการพัฒนาเด็ก ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย และสมาคมกุมารแพทย์ฯ กล่าว ว่า หากเด็กเลือกได้จะเล่นมากกว่ากิน เล่นมากกว่าเรียน หรือเล่นมากกว่านอน ที่เป็นแบบนี้เพราะเด็กนั้นเห็นการเล่นเป็นชีวิตจิตใจ จากการวิเคราะห์ของราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ พัฒนาการของเด็กไทยในช่วงประถมวัยก่อน 6 ขวบ เมื่อปี 2543-2544 จากการสำรวจเด็กไทย 3,000-4,000 คน พบว่ามีพัฒนาการล่าช้ากว่าร้อยละ 28 ขณะที่ในปี 2547 ใกล้เคียงกัน คือราวๆ ร้อยละ 30 แต่เมื่อถึงปี 2550 พบว่าเด็กไทยมีพัฒนาการล่าช้าเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 32 แปลว่าในเด็กไทย 10 คน มีพัฒนาการล่าช้าอยู่ถึงประมาณ 3 คน

พ.ญ.นิตยากล่าวต่อว่า พัฒนาการของเด็กไทยที่พบว่าล่าช้ามี 2 ด้าน คือ 1.ด้านภาษา 2.พัฒนาการด้านกล้ามเนื้อ ซึ่งรวมกันเป็นไอคิว การเล่นเป็นการเรียนรู้ที่สำคัญต่อเด็ก เพราะสมองของเด็กกำลังเติบโตและกำลังพัฒนาจากสิ่งรอบตัว การเล่นเปรียบเสมือนสารอาหารที่สำคัญ ทั้ง เป็นการพัฒนาทางด้านจิตใจ อารมณ์ สังคม และเชาว์ปัญญา ในส่วนของเด็กที่ถูกทอดทิ้ง เด็กที่พ่อแม่ทำมาหากินไม่มีเวลาเลี้ยงดู และเด็กที่อยู่ในสภาวะยากจน เราต้องคอยดูแลพวกเขาและให้ข้อมูลเพิ่มเติม โดยขยายความให้เขามีความรู้ความเข้าใจกว้างมากขึ้น หรือการให้ของเล่นกับเด็กต้องเหมาะสมกับความยากง่ายของตัวเด็กเองด้วย ถ้ายากเกินไปเด็กจะโมโหมากเพราะทำไม่ได้

สุดท้ายของเล่นเหล่านี้ต้องไม่กระตุ้นเร้าความเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์และ ความรุนแรง ไม่เกิดอันตรายจากตัวมันเอง ทั้งความคมหรือการปนเปื้อนจากสารตะกั่ว จึงอยากให้ภาครัฐ ส่วนองค์กรของจังหวัด และชุมชนท้องถิ่น รวมถึงคนภายในครอบครัวร่วมมือกัน ส่วนราชวิทยาลัยกุมารแพทย์จะช่วยในเรื่องการให้ความรู้ความเข้าใจ และการสนับสนุนประสานงาน หากมีเด็กบาดเจ็บจากของเล่นให้เก็บตัวอย่างส่งตรวจโดยผ่านราชวิทยาลัยฯ

“อย่างไรก็ตาม อยากย้ำว่าของเล่นยังเป็นสิ่งสำคัญของเด็ก เหมือนเป็นอาหารสมองและจิตใจ จะช่วยส่งเสริมให้เด็กมีพัฒนาการที่ดีทั้งด้านร่างกาย จิตใจและสังคม แต่ต้องเลือกชนิดที่ปลอดภัย และเหมาะกับระดับความสามารถของเด็กแต่ละคน”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น