วันเสาร์ที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2552

3 เดือนแรกของแม่มือใหม่

นับ จากนี้ไป การเริ่มต้นเลี้ยงดูลูกน้อยของคุณแม่ กำลังจะเริ่มขึ้น เพียงแต่ว่ายังมีหลายสิ่งหลายอย่างสำหรับคนเป็นแม่ต้องทำความเข้าใจ เตรียมความพร้อมปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในช่วง 3 เดือนแรกค่ะ

คุณแม่เดือนแรก

เมื่อเริ่มต้นเป็นแม่ ความรู้สึกกังวลในหลายสิ่งหลายอย่างต่อการเลี้ยงลูก กลัวว่าเลี้ยงลูกได้ไม่ดี เลี้ยงไม่เป็น ซึ่งความวิตกกังวลบางส่วนอาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย ซึ่งส่งผลต่อความรู้สึกทางจิตใจและอารมณ์ของแม่ระหว่างการพักฟื้นหลังคลอด และบางส่วนเกิดจากความไม่มั่นใจในการเป็นแม่มือใหม่

คุณแม่ที่ไม่สามารถปรับสภาพตัวเองเข้า กับการเปลี่ยนแปลงนี้ได้ อาจมีอาการกังวลใจ จิตใจไม่ปกติ หดหู่ ท้อแท้ จนอาจจะเกิดภาวะซึมเศร้าหลังคลอด แต่ใช่ว่า คุณแม่ทุกคนจะมีอาการแบบนี้เหมือนกันหมด เพราะขึ้นอยู่กับพื้นฐานทางสภาพร่างกายและจิตใจเป็นหลัก หากแม่สุขภาพแข็งแรง อารมณ์มั่นคงพอ รวมถึงสภาพแวดล้อม คนรอบข้าง เอื้อต่อการเลี้ยงดูลูก ก็สามารถตั้งรับกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

เตรียมพร้อมเลี้ยงลูก

เมื่อรู้สึกเครียดหรือเหน็ดเหนื่อยกับเรื่องลูก ทางออกที่ดีที่สุดให้กับคุณและลูกน้อย คือ การตั้งสติ ค่อยๆ ปล่อยวางอารมณ์ตัวเอง ก็จะช่วยให้ทุกอย่างผ่านพ้นด้วยดี นอกจากความรู้คู่มือเลี้ยงลูกในตำรา การพูดคุย หาความรู้จากกูรูผู้มีประสบการณ์มาก่อน เป็นแนวทางอย่างกว้างๆ ให้คุณเตรียมพร้อมกับการเลี้ยงลูกในแบบฉบับของคุณ พูดคุยกับพ่อของลูก เพื่อขอความช่วยเหลือเรื่องงานบ้าน คุณแม่จะได้ไม่ต้องกังวลหลายๆ เรื่องในคราวเดียวกัน

ครั้งแรกกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ คุณอาจกังวลว่า น้ำนมไม่มากพอเลี้ยงลูก แต่หากคุณดูแลเรื่องอาหารการกินที่มีประโยชน์ไม่เครียดกับการให้นมมากเกินไป ทำใจให้สบายๆ หาความรู้ในเรื่องนมแม่ไว้ก่อน รับรองว่าคุณแม่จะสามารถผ่านเรื่องนี้ได้อย่างดี

คุณลูกเดือนแรก

ถ้าลูกไม่ได้มีปัญหาด้านการดูด ก็ยังไม่ต้องกังวลกับการดูดนมของลูกในช่วงนี้ เพราะดูเหมือนลูกจะดูดนมได้น้อย แต่ก็กินบ่อย ทุก 2-3 ชั่วโมงโดยประมาณ นั่นก็เพราะกระเพาะลูกยังเล็กนิดเดียว และการให้ลูกดูดนมแม่บ่อยๆ เป็นการช่วยกระตุ้นการผลิตน้ำนมเพื่อลูกน้อยอย่างเพียงพอ

เด็กบางคนนอนแล้วตื่นบ่อย บางคนนอนได้นาน 3-4 ชั่วโมงก็เป็นลักษณะนิสัยของเด็กแต่ละคน แต่ถ้าลูกนอนตื่นบ่อยผิดสังเกตก็ต้องคอยดูว่า เป็นเพราะกินนมไม่พอ ลูกเจ็บป่วย หรือชื้นแฉะหรือไม่ เด็กแรกเกิดมักแหวะนมเป็นเรื่องปกติ เพราะหูรูดกระเพาะไม่แข็งแรงแก้โดยการอุ้มพาดหลังให้ลูกเรอทุกครั้งหลังอิ่ม นม แม้ลูกยังมองเห็นไม่ชัด เห็นเพียงระยะใกล้ๆ แต่ก็สนใจที่จ้องมองวัตถุสิ่งของ โดยเฉพาะใบหน้าแม่ ทักษะการได้ยินพัฒนาสมบูรณ์มาตั้งแต่ในท้อง ลูกจะเริ่มจดจำว่าเสียงไหนเป็นเสียงแม่ การเคลื่อนไหว แขน ขา ยังเกิดจากปฏิกิริยาสะท้อนกลับอยู่

ช่วงเดือนแรก เป็นช่วงที่ลูกปรับตัว การกิน การนอน การขับถ่าย อาจไม่เหมือนกันสักวัน แต่พอลูกอายุมากขึ้น ทุกอย่างจะเป็นระบบมากขึ้น สิ่งที่ต้องเข้าใจสำหรับแม่มือใหม่คือ เด็กแต่ละคนมีอุปนิสัยและความต้องการที่ต่างกันไม่จำเป็นต้องกำหนด ว่าลูกต้องกินวันละกี่ครั้ง นอนวันละกี่ชั่วโมง หรือถ่ายวันละกี่ครั้ง เพราะตราบใดที่ลูกยังร่าเริง น้ำหนักและพัฒนาการต่างๆ อยู่ในเกณฑ์ปกติ ก็ไม่ต้องกังวลกับเรื่องต่างๆ ที่กล่าวมา เพราะมีแต่จะส่งผลเสียทำให้คุณเครียดมากกว่า

คุณแม่เดือนที่ 2

ทุกเรื่องที่คุณเคยกังวล กลัวๆ เกร็งๆ กับการเลี้ยงลูกมาก่อน เดือนนี้คุณแม่จะคล่องแคล่วมากขึ้น เพราะช่วงเวลาที่ผ่านมาคุณได้ใกล้ชิดดูแลลูกน้อยเรียนรู้ซึ่งกันและกันระดับ หนึ่งแล้ว แล้วคุณจะพบว่า ลูกตัวเล็กๆ มีพัฒนาการก้าวหน้าขึ้นเป็นลำดับ

เตรียมพร้อมเลี้ยงลูก

สมัยนี้มีข้อมูลการเลี้ยงลูกให้คุณ แม่จากสื่อต่างๆ มากมาย บางครั้งคุณแม่อาจจะรับรู้มามากจากหลายทิศทาง จนเกิดความสับสน ซึ่งความจริงแล้วข้อมูลหรือวิธีการต่างๆ เป็นการบอกแนวทางอย่างกว้างๆ ไม่ใช่เด็กทุกคนต้องเป็นเหมือนในตำราเป๊ะ ทุกอย่างยืดหยุ่นได้ เพราะเด็กแต่ละคนมีธรรมชาติเป็นของตัวเองและคนที่จะรู้ดีที่สุดว่าลูกเหมาะ กับการเลี้ยงดูแบบไหนก็คือตัวคุณแม่ที่อยู่ใกล้ชิดลูกเกือบตลอดเวลานั่นเอง

คุณลูกเดือนที่ 2

จากที่นอนนาน 20 ชั่วโมงต่อวัน ตอนนี้ลูกวัย 2 เดือน จะมีชั่วโมงการนอนที่ลดลงเป็น 16-18 ชั่วโมงต่อวัน เพราะเริ่มปรับตัว และเรียนรู้ที่จะหลับตื่นเป็นเวลานั่นเอง ดูเผินๆ เหมือนลูกเอาแต่นอน ถึงตื่นก็จะมองนิ่งๆ ถ้าสังเกตดีๆ คุณแม่จะเห็นว่า ลูกเริ่มจดจำใบหน้าที่คุ้นเคย ส่งรอยยิ้มให้คุณได้มากขึ้น เพราะลูกเชื่อมโยงการยิ้มเข้ากับความพอใจแสดงออกมาให้คุณได้เห็นกล้ามเนื้อ คอเริ่มแข็งแรง ยกศีรษะจากที่นอนเมื่ออยู่ในท่านอนคว่ำได้ชั่วขณะประมาณ 45 องศา สามารถขยับเขยื้อน เคลื่อนไหวได้มากกว่าเดือนที่ผ่านมา
หากลูกหงุดหงิด ไม่พอใจ ต้องการอะไร การส่งเสียงร้อง จะเป็นวิธีเดียวที่ลูกของคุณร้องขอความช่วยเหลือ

คุณแม่เดือนที่ 3

มาถึงเดือนนี้ก็เริ่มเป็นคุณแม่มือ โปร ในการจัดการลูกน้อยตัวเล็กแล้ว เพราะจ้องตา อ่านใจลูกกันมาพอสมควร แต่คุณแม่ที่เป็น Working mom อาจจะรู้สึกใจหาย เพราะในอีกไม่กี่วันก็ต้องกลับไปทำงาน ไม่ได้อยู่กับลูกตลอด 24 ชั่วโมงเหมือนที่ผ่านมา ฉะนั้นวิธีการที่ดีที่สุด คือการเตรียมพร้อม

เตรียมพร้อมเลี้ยงลูก

ให้คนที่จะมาเลี้ยงลูกให้คุณในช่วง ที่ไปทำงาน มาเลี้ยงคู่กับคุณไปด้วย เพราะเขาคนนั้นจะได้รู้จักรู้ใจลูกคุณ ถ้าคนนั้นเป็นญาติสนิทกัน คงไม่เป็นปัญหาเท่าไหร่ แต่ถ้าเป็นพี่เลี้ยงที่จ้างกันมา ก็ต้องเทรนด์กันเป็นพิเศษ บางครอบครัวอาจะเลือกใช้บริการเดย์แคร์ หรือเนิร์สเซอรี่ ก็ต้องดูในเรื่องสถานที่ พี่เลี้ยง ความสะอาด มาตรฐานของสถานที่นั้นให้ละเอียด เตรียมนมแม่ให้พร้อม ถึงแม้จะไม่ได้ให้ลูกดูดจากเต้าในช่วงกลางวัน คุณก็สามารถปั๊มเก็บให้ลูกได้ ลูกจะได้แข็งแรงด้วยนมแม่อย่างต่อเนื่อง

คุณลูกเดือนที่ 3

เวลากิน เวลานอนของลูกเป็นระบบมากขึ้นค่ะ ที่สำคัญลูกมีความสุขกับของเล่นเขย่ามีเสียง ของที่เคลื่อนไหวได้มากขึ้น
ลูกเริ่มใช้นิ้วมือหยิบๆ จับ สิ่งของ ยกนิ้วมือขึ้นมาดูดๆ อมๆ เข้าปาก คุณอาจสงสัยได้ว่า เป็นเพราะหิวหรือเปล่า แท้จริงแล้ว เป็นเพราะความเพลิดเพลิน สนุกกับการดูดนั่นเอง กล้ามเนื้อคอมีความแข็งแรงมากขึ้น ทำให้ลูกชันคอได้ตรงและนานขึ้น การมองเห็นดีขึ้น คุณแม่อาจจะกระตุ้นสายตาลูกโดยการหาภาพมาให้ลูกได้มอง

ช่วงระยะเวลา 3 เดือนแรกหลังคลอด คุณแม่อาจจะลุ้นอยากให้ลูกคอแข็งเร็วๆ จะได้อุ้มง่ายขึ้น อยากให้ลูกนอนเป็นเวลาบ้าง คุณแม่จะได้พักผ่อนเต็มตาซะที แต่เมื่อครบ 3 เดือนแล้วคุณมองย้อนกลับไป จะพบว่าช่วงเวลาที่ผ่านมาเป็นช่วงเวลาของความสุข (เคล้าน้ำตาทั้งแม่และลูก) คุณได้เรียนรู้ ได้ทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ คุณอาจจะทึ่งความสามารถของคุณเอง ทึ่งในความเปลี่ยนแปลงของลูกตัวเล็กๆ ความรัก การดูแลเอาใจใส่ที่คุณดูแลลูกน้อยนั้น เชื่อว่าแค่ยิ้มของลูกก็เป็นของขวัญที่มีค่าที่สุด ที่จะทำให้รู้สึกว่า เป็นแม่นี่ดีจริงๆ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น