วันเสาร์ที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2552

อย่าละเลยไทรอยด์เป็นพิษ

ถึงโรค ไทรอยด์เป็นพิษจะพบไม่มากในคุณแม่ท้องเพราะจากข้อมูลโรงพยาบาลศิริราช พบว่าในคุณแม่ 300 คน จะพบที่ป่วยเป็นโรคนี้อยู่ 1 คน แต่หากเป็นขึ้นมาแล้ววิธีง่ายๆ ก็คือการดูแลสุขภาพให้ดีเพื่อความปลอดภัยของทั้งตัวเองและลูกในท้องครับ

1. คุณละเลย อายุ 28 ปี เป็น นักเขียนในนิตยสารชื่อดัง เมื่อประมาณ 2 ปีก่อน เริ่มมีอาการเหนื่อยง่าย ใจสั่น กินเก่งแต่กลับผอมลง เมื่อไปตรวจกับคุณหมอก็วินิจฉัยว่าเป็นโรคไทรอยด์เป็นพิษ ได้ให้การรักษาโดยกินยาควบคุมและนัดมาตรวจเป็นระยะๆ แต่คุณละเลยก็ไปตามนัดไม่ค่อยสม่ำเสมอ เพราะไม่ค่อยว่าง และอาการของโรคก็ไม่มีอะไรรุนแรงมากนัก

ประมาณ 1 ปีก่อนคุณละเลยแต่งงาน หลังจากนั้นไม่นานก็ตั้งครรภ์ คุณละเลยได้ไปฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลรัฐที่เคยไปรักษาไทรอยด์ ขณะอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ได้รับการตรวจเลือด ผลปรากฏว่าระดับฮอร์โมนไทร็อกชินสูงมาก และยังพบว่าคุณละเลยค่อนข้างซีดด้วย คุณหมอได้ให้ยารักษาไทรอยด์และยาบำรุงเลือดไปกิน แต่คุณละเลยก็กินยาไม่สม่ำเสมอ และไม่มาตรวจตามที่คุณหมอนัด

ขณะตั้งครรภ์ได้ 38 สัปดาห์ คุณละเลยงานยุ่งมาก อดนอนมาหลายวันแถมยังเป็นช่วงที่อากาศเปลี่ยน ฝนตกบ่อย คุณละเลยไม่สบาย มีไข้ขึ้นสูงตอนแรกนึกว่าเป็นแค่หวัดธรรมดา แต่กลับมีอาการหนาวสั่น ตัวร้อนมากจึงไปโรงพยาบาล คุณหมอตรวจพบว่ามีไข้สูงถึง 40 องศา มีอาการเหม่อลอยไม่ค่อยรู้สึกตัว แถมยังมีอาการขาดน้ำอย่างรุนแรง ปากแห้งมาก อ่อนเพลีย คุณหมอวินิจฉัยว่า คุณละเลยมีอาการไทรอยด์เป็นพิษขั้นรุนแรง หรือภาษาแพทย์เรียกว่าไทรอยด์เป็นพิษขั้นวิกฤติ (Thyroid Crisis) ต้องรับไว้รักษาในหอผู้ป่วยหนัก และให้การรักษาอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นการให้สารน้ำอาหารทางสายยาง ยารักษาไทรอยด์ที่จะเป็นหลายชนิด รวมทั้งให้ยาลดความดันโลหิต เนื่องจากพบว่าความดันโลหิตสูงมากด้วย

หลังจากรักษาตัวอยู่ 2 วัน คุณละเลยเกิดเจ็บท้องคลอด คุณหมอจึงทำคลอดให้เป็นทารกเพศหญิง น้ำหนัก 2,100 กรัม พบว่าติดเชื้อ ตัวเหลืองหายใจเร็ว ต้องรับตัวไว้รักษาในหอผู้ป่วยทารกแรกเกิดนานถึง 3 สัปดาห์จึงกลับบ้านได้ ส่วนคุณละเลยต้องรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล 1 เดือน จึงกลับบ้านได้

2. คุณทอดทิ้ง อายุ 23 ปี เป็น พนักงานขายของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งเมื่อ 3 ปีก่อนรู้สึกว่าประจำเดือนของตัวเองมาน้อยกว่าปกติ หงุดหงิดง่าย ใจสั่น ขี้ร้อน เมื่อไปตรวจร่างกายจึงทราบว่าตัวเองเป็นไทรอยด์เป็นพิษ คุณหมอก็ได้ให้ยามากิน แต่คุณทอดทิ้งกินยาไม่สม่ำเสมอเนื่องจากงานยุ่งมาก

ประมาณ 8 เดือนก่อน คุณทอดทิ้งเริ่มตั้งครรภ์และไปฝากครรภ์กับคุณหมอที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง คุณหมอที่ดูแลได้กำชับให้คุณทอดทิ้งกินยารักษาโรคไทรอยด์เป็นพิษให้สม่ำเสมอ เพื่อจะได้คุมอาการของโรคให้ได้แต่คุณทอดทิ้งก็ทำไม่ได้เพราะงานยุ่ง ในช่วงระยะที่ตั้งครรภ์นี้คุณทอดทิ้งยังมีอาการมือสั่น ใจสั่นบ้างเล็กน้อย กินยาบ้างไม่กินบ้าง

ขณะอายุครรภ์ได้ประมาณ 35 สัปดาห์ เป็นช่วงที่คุณทอดทิ้งงานยุ่งมากจนไม่ค่อยได้ดูแลตัวเอง แต่สังเกตว่าลูกดิ้นน้อยลงจนผิดปกติ จึงรีบมาพบคุณหมอ เมื่อตรวจร่างกายและอัลตราซาวนด์ คุณหมอพบว่าลูกในท้องเสียชีวิตแล้ว และยังพบอีกว่าตัวคุณทอดทิ้งเองก็ความดันโลหิตสูง คุณหมอจึงให้ยาเร่งคลอด และยาลดความดันร่วมด้วย ผลการคลอดได้ทารกที่เสียชีวิตแล้ว เป็นทารกเพศชาย น้ำหนัก 1,700 กรัม ส่วนคุณทอดทิ้งต้องนอนรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลประมาณ 1 สัปดาห์จึงกลับบ้านได้

ผู้ป่วยทั้ง 2 รายเป็นตัวอย่างของผู้ป่วยที่เป็นโรคไทรอยด์เป็นพิษขณะตั้งครรภ์ ซึ่งมีความรุนแรงของโรคค่อนข้างมาก จนทำให้เกิดทั้งปัญหาที่ซับซ้อนและยุ่งยากต่อการดูแลรักษา รวมทั้งยังเสี่ยงชีวิตของทั้งแม่และลูกด้วย

รู้จักไทรอยด์

ไทรอยด์เป็นชื่อของต่อมชนิดหนึ่งที่ วางอยู่บริเวณด้านหน้าตรงบริเวณลูกกระเดือก ปกติจะคลำไม่พบ มองไม่เห็น หน้าที่หลักของต่อมไทรอยด์คือการสร้างสารเคมีชนิดหนึ่งแล้วปล่อยเข้าสู่ กระแสเลือด สารเคมีที่ว่าชื่อว่า “ฮอร์โมนไทร็อกชิน” ภายหลังเข้าสู่กระแสเลือดฮอร์โมนตัวนี้จะกระจายไปควบคุมการทำงานของอวัยวะ ต่างๆ ทั่วร่างกายในหลายลักษณะงาน เช่น ควบคุมอุณหภูมิของร่างกายให้สมดุล ควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายให้ราบรื่น ควบคุมการเต้นของหัวใจให้ปกติ ฯลฯ

พิษสง…ไทรอยด์เป็นพิษ

โดยปกติต่อมไทรอยด์จะสร้างฮอร์โมนไท ร็อกชินออกมาในปริมาณที่เหมาะสมเพราะถ้าสร้างมากหรือน้อยเกินไปก็จะทำให้ เกิดปัญหาต่อร่างกายได้ทั้งสิ้น เพื่อให้ง่ายต่อความเข้าใจ ผมจะลองเปรียบเทียบการทำงานของต่อมไทรอยด์กับเครื่องยนต์ของรถยนต์ดูนะครับ สมมติว่าเรามีรถยนต์อยู่คันหนึ่ง ถ้าเครื่องยนต์ของรถคันดังกล่าวเกิดมีปัญหาเครื่องไม่ยอมดับ แถมเวลาเร่งเครื่องแค่นิดหน่อย เครื่องก็กลับเร่งมากจนควบคุมไม่อยู่ผลดังกล่าวจะทำให้ตัวรถร้อนและผลาญ น้ำมันตลอดเวลา และถ้าวิ่งไปบนถนนรถก็อาจจะสั่นหรือซนอะไรได้ง่าย ในทางตรงกันข้าม ถ้ารถที่ว่ามีเครื่องยนต์ที่ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ เร่งเครื่องเท่าไรก็ไม่ค่อยยอมจะวิ่ง วิ่งอืด หรือเครื่องดับง่าย กรณีนี้ก็ทำให้รถยนต์ใช้การไม่ค่อยจะได้เช่นเดียวกัน

การทำงานของต่อมไทรอยด์ของคนเราก็ เปรียบได้กับการทำงานของเครื่องยนต์ กล่าวคือถ้าต่อมไทรอยด์สร้างฮอร์โมนไทร็อกชินออกมามากกว่าปกติ ก็จะทำให้คนคนนั้นมีอาการอยู่ในสภาพที่อยู่ไม่สุข กล่าวคือจะรู้สึกขี้ร้อน หงุดหงิด มือสั่นใจสั่น ประจำเดือนรวน มาน้อย บางคนเป็นมากอาจมีอาการตาโปนออกมา เราเรียกคนที่มีลักษณะเช่นนี้ว่าเป็น “โรคไทรอยด์เป็นพิษ” หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Hyperthyroidism หรือ Thyrotoxicosis นั่นเองแหละครับ

ในทางตรงกันข้าม ถ้าต่อมไทรอยด์สร้างฮอร์โมนตัวนี้น้อยกว่าปกติ ร่างกายก็จะถูกกระตุ้นให้ทำงานน้อยลง ส่งผลให้เป็นคนเชื่องช้า อ้วนฉุ ขี้เกียจ มักง่วงนอน ซึ่งถือเป็นโรคชนิดหนึ่งเหมือนกันเรียกว่า “โรคต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยกว่าปกติ” หรือเรียกกันในภาษาอังกฤษว่า Hypothyroidism โรคที่ต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยกว่าปกตินี้ถ้าเกิดขึ้นในเด็กเล็กอาจทำให้เด็กคน นั้นโตขึ้นมาเป็นเด็กที่มีปัญหาปัญญาอ่อนได้นะครับ

โดยทั่วไปแล้ว เราพบคนที่เป็นโรคไทรอยด์เป็นพิษมากกว่าคนที่ต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยกว่าปกติ ครับ หลายคนคงสงสัยว่า แล้วโรคนี้มันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร คำตอบคือยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด บางคนว่าจากกรรมพันธุ์จากอาหาร จากสิ่งแวดล้อม สารพัดจะคิดสรุปก็คือยังไม่ทราบ ยกเว้นในเด็กที่คลอดจากมารดาที่เป็นโรคนี้และกินยาควบคุมโรคนี้มากเกินไป ก็อาจจะทำให้ลูกเป็นโรคต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยกว่าปกติได้ครับ

ทรอยด์เป็นพิษกับการตั้งครรภ์

คนที่เป็นโรคไทรอยด์เป็นพิษถ้าเกิดตั้งครรภ์ขึ้นมาจะมีผลกระทบอะไรไหม หลายคนคงอยากจะทราบคำตอบใช่ไหมครับ
ถ้าจะพูดกันให้ครบถ้วนแล้ว ก็ต้องไล่ตั้งแต่เริ่มจะมีการตั้งครรภ์เลยครับว่า คนที่เป็นโรคนี้อาจจะมีลูกยาก เนื่องจากการตกไข่จะถูกรบกวน แต่ถ้าตั้งครรภ์ได้ก็อาจจะมีปัญหาว่าลูกน้อยในท้องมีการเจริญเติบโตไม่ดี เนื่องจากสารอาหารที่ลูกควรจะได้จากแม่ถูกเผาผลาญทิ้งไปเฉยๆ เป็นจำนวนมาก ทำให้เหลือไปยังลูกน้อยกว่าที่ควรจะเป็น บางคนที่โรครุนแรงมากลูกอาจจะตายในครรภ์เลยก็ได้ อย่างรายของคุณทอดทิ้งที่ยกตัวอย่างนั่นแหละครับ อย่างไรก็ตามโรคนี้ไม่ทำให้ลูกพิการแต่อย่างใด

สำหรับตัวคุณแม่ที่ตั้งครรภ์เองพบ ว่าถ้าควบคุมอาการของโรคให้ดีก็ไม่น่าเกิดปัญหาอะไร แต่ถ้าควบคุมโรคได้ดี อาจทำให้เสี่ยงชีวิตได้จากการที่ร่างกายถูกกระตุ้นมากเกินไป บางคนอาจจะหัวใจวายไตวาย หมดสติ มีอาการขาดน้ำ เหมือนกับรายของคุณละเลยที่ยกมาเป็นตัวอย่าง

3 วิธีรักษา

ไข้ยา วิธี รักษาโรคไทรอยด์เป็นพิษที่ดีก็คือ ต้องควบคุมให้ต่อมไทรอยด์ทำงานโดยการสร้างฮอร์โมนไทร็อกชินออกมาในปริมาณที่ เหมาะสม ซึ่งปัจจุบันเราใช้ยาในการควบคุมการทำงาน ยากที่ใช้กันบ่อยและได้ผลดีคือ PTU (Propylthiouracil) ซึ่งจะช่วยปรับลดปริมาณฮอร์โมนไทร็อกชินให้อยู่ระดับใกล้เคียงปกติเพื่อให้ อาการสงบ

คนที่เป็นโรคนี้ต้องกินยาตัวนี้ไป เรื่อยๆ และควรพบแพทย์ตามนัดเพื่อปรับปริมาณยาให้เหมาะสมกับความรุนแรงของโรคหลายคน คงสงสัยว่า แล้วจะต้องกินยาไปนานซักเท่าไรถึงจะเลิกได้ คำตอบก็คือบอกยากครับ บางคนกินไม่นานอาการของโรคก็หยุดไปและเลิกยาแล้วก็ไม่มีอาการ บางคนอาการเดี๋ยวดีเดี๋ยวร้ายต้องกินยาบ้าง หยุดบ้างไปเรื่อยๆ บางคนหยุดยาไม่ได้เลย ก็มี ขืนหยุดโรคแผลงฤทธิ์เลยทันที เอาเป็นว่าตัวใครตัวมันก็แล้วกันครับ

ดื่มน้ำแร่ การดื่มน้ำแร่บางชนิดสามารถไปช่วยลดจำนวนเซลล์ของต่อมไทรอยด์ที่ทำหน้าที่ สร้างฮอร์โมนไทร็อกชินได้ เพื่อจะลดการผลิตฮอร์โมนออกมา ร่างกายจะได้ถูกระตุ้นในทำงานน้อยลง แต่ถ้าดื่มมากไปก็อาจทำให้ต่อมไทรอยด์สร้างฮอร์โมนน้อยเกินไป กลายเป็นเป็นโรคต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยกว่าปกติก็เป็นได้ครับ

ผ่าตัด บาง คนที่กินยาหรือดื่มน้ำแร่แล้วก็ยังไม่ค่อยได้ผล ก็ต้องใช้วิธีผ่าตัดเอาเนื้อต่อมไทรอยด์บางส่วนออก เพื่อลดปริมาณการผลิตฮอร์โมนไทร็อกชินลง การผ่าตัดที่ว่านี้มีความเสี่ยงไม่น้อย เพราะใกล้เคียงกับต่อมไทรอยด์ที่ทารกผ่าตัด ยังมีต่อมอีกต่อมหนึ่งเรียกชื่อว่าต่อมพาราไทรอยด์ (Parathyroid Gland) ซึ่งทำหน้าที่ในการควบคุมปริมาณแคลเซียมในร่างกาย และก็ยังมีเส้นประสาทที่ควบคุมการใช้เสียงพูดอยู่ข้างๆ และทั้งต่อมและเส้นประสาทที่ว่าก็มีขนาดเล็กเหลือเกิน จนดูแทบไม่ออก ถ้าผ่าตัดไม่ดีไปโดนต่อมหรือเส้นประสาทที่ว่าเข้าก็เป็นเรื่องเหมือนกัน กล่าวคืออาจทำให้เกิดปัญหากระดูกบางหรือเสียงแหบตามมาได้ เป็นไง…อ่านแล้วเหนื่อยไหมครับ

จะเห็นได้ว่าการรักษาโรคนี้ก็เหมือน การพยายามที่จะจูนคลื่นวิทยุหรือปรับความแรงของเครื่องยนต์ให้ทำงานในระดับ ปกติ ซึ่งทำได้ไม่ง่ายนัก ต้องค่อยๆ ทำไปดังนั้นการรักษาที่ดีอย่างต่อเนื่องจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก

ถ้าคุณแม่ท่านใดเป็นโรคนี้ ก็อยากจะฝากข้อแนะนำว่าพยายามมีวินัยในการกินยานะครับ ทำตัวให้สบาย ไม่หาเรื่องเครียดใส่ตัวจนเกินไป พักผ่อนให้เพียงพอแค่นี้ก็น่าจะพอ ขอให้คุณแม่ที่เป็นโรคนี้ทุกคนตั้งครรภ์และคลอดโดยปลอดภัยนะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น